วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนะนำบรรดาผู้ที่ดำเนินอยู่ในความผิดพลาดจากผู้ที่ทำละหมาด

แนะนำบรรดาผู้ที่ดำเนินอยู่ในความผิดพลาดจากผู้ที่ทำละหมาด

หนังสือเล่มนี้ ที่ชื่อว่า إرشاد السالكين فى أخطاء المصلين เป็นหนังสือที่ เชค มะห์มูด มิสรี่ อบูอัมมาร ได้ทำการรวบรวมไว้ ความหมายเป็นภาษาไทยว่า "แนะนำบรรดาผู้ที่ดำเนินอยู่ในความผิดพลาดจากผู้ที่ทำละหมาด" 
จริงๆแล้ว คำว่า السالكين นั้น หมายถึง "ผู้ที่เดินทาง" ดังนั้น การเดินทางที่ว่านี้ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจาก "ผู้ที่เดินทางไปสู่อัลเลาะห์" นั่นเอง และมันก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่เรากำลังทำกันอยู่ในทุกวันนี้ นั่นก็คือ เรื่องของการละหมาด สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือ ที่ชี้แนะเรื่องราวต่างๆของผู้ที่ทำละหมาด ที่ดำเนินอยู่บนความผิดพลาด ซึ่งบางครั้งตัวผู้ที่ทำละหมาดเองก็อาจจะไม่รู้ว่า สิ่งที่ตนเองได้กระทำอยู่นั้น มันคือเรื่องที่ผิด ผมอ่านดูแล้ว เห็นว่าน่าสนใจดี วันนี้ เลยขออนุญาตนำเสนอเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจครับ

บิดอะห์และความผิดพลาดในเรื่องของมัสยิด

1.การทิ้งละหมาดตะฮียะตุ้ลมัสยิด
ส่วนหนึ่งจากบรรดาข้อผิดพลาดที่แพร่หลายอยู่ในตัวผู้ที่ทำละหมาดนั้น ก็คือ การนั่งในมัสยิด โดยไม่ได้ทำการละหมาดตะฮียะตุ้ลมัสยิด ซึ่งมีรายงานจาก ท่านอบูกอตาดะฮ์(รด.)ว่า แท้จริงท่านร่อซู้ล (ซล.)ทรงกล่าวว่า 

إذا دخل أحدكم المسجد فليركع ركعتين قبل أن يجلس

ความว่า "เมื่อคนหนึ่งคนใดจากพวกท่านได้เข้ามัสยิด ดังนั้นเขาจงรู่กัวะอ์ (ละหมาด) 2 ร่อกาอัต ก่อนที่เขาจะนั่ง" บันทึกโดย ท่านอีหม่ามบุคอรีย์ หะดีษที่ 444

เสริม : ผู้คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่า เมื่อคนหนึ่งได้เข้ามาในมัสยิดและก็ได้นั่งลงแล้ว ดังนั้นเวลาของการละหมาดตะฮียะตุ้ลมัสยิด ก็จะสิ้นสุดลงด้วยการนั่งนั้น แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้น เพราะมีหะดีษของท่านอิบนุฮิบบานได้ระบุเอาไว้ว่า

ครั้งหนึ่ง ท่านอบูซัรร์(รด.)ได้เข้ามาในมัสยิด และท่านนบี (ซล.) ก็ได้กล่าวแก่เขาว่า

أركعت ركعتين ؟ ، قال لا ، قال قم فاركعهما

ความว่า "ท่านได้ละหมาด 2 ร่อกาอัตหรือยัง" ท่านอบูซัรร์ได้ตอบว่า ยัง ท่านร่อซู้ลก็ได้กล่าวว่า "ท่านจงยืนขึ้น และจงไปละหมาด 2 ร่อกาอัตเถิด" จาก ซอเฮี๊ยะอิบนุฮิบบาน

และท่านอีหม่ามอิบนุฮิบบาน ก็ได้ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า : แท้จริงแล้ว การละหมาดตะฮียะตุ้ลมัสยิดนั้น จะไม่ขาดไปด้วยกับการนั่ง และอนุญาตให้เขาทำการละหมาดตะฮียะตุ้ลมัสยิดได้เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลาต่างๆทั้งหมด จากช่วงเวลาที่ห้ามการละหมาด เช่น หลังละหมาดซุบฮี่ และหลังละหมาดอัสรี่ เพราะการละหมาดตะฮียะตุ้ลมัสญิดนั้น มันคือละหมาดชนิดหนึ่ง จากบรรดาละหมาดที่เป็นเจ้าของเหตุ เช่นเดียวกับละหมาดตอวาฟ และละหมาดจันทรคราส

2.การทิ้งดุอาอ์เข้าและออกจากมัสยิด
มีอยู่มากมายจากบรรดามุสลิม ที่ไม่รู้จักซุนนะห์ของท่านร่อซู้ล (ซล.)ในการเข้าและออกจากมัสยิด และไม่รู้ถึงบทดุอาอ์ที่ถูกรายงานมาในเรื่องดังกล่าว และเพราะเหตุดังกล่าวนี้ เรา (ผู้แต่งหนังสือ) จึงขอกล่าวแก่พวกเขาว่า : หากผู้ใดที่ต้องการเข้ามัสยิด สุนัตให้เขาเข้ามัสยิดด้วยเท้าขวา และออกจากมัสยิดด้วยเท้าซ้าย
เมื่อดุอาอ์นั้นเปรียบเสมือนกับช่อดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ดังนั้น จำเป็นแก่พวกท่าน(สมควรเป็นอย่างยิ่ง)ที่พวกท่านจะต้องกล่าวมันจากบรรดาดุอาอ์ของท่านร่อซู้ล (ซล.) เพื่อที่กลิ่นหอมนั้นมันจะได้ติดตามตัวเขาไป ทั้งในตอนเข้าและในตอนที่ออกจากมัสยิด

มีรายงาานจากท่านอนัส(รด.)ว่า แท้จริงท่านร่อซู้ล(ซล.)นั้น เมื่อได้เข้ามัสยิด ท่านก็จะกล่าวว่า
بسم الله ، اللهم صل على محمد
และเมื่อออกจากมัสยิดท่านก็กล่าวว่า
بسم الله ، اللهم صل على محمد
เป็นหะดีษหะซัน และท่านอิบนุสซุนนีย์ได้รายงานหะดีษนี้เอาไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อ عمل اليوم والليلة

และมีรายงานจากท่านอบูฮู่มัยด์ หรือ อบูอุซัยด์(รด.)ว่า ท่านร่อซู้ล(ซล.)ทรงกล่าวว่า

إذا دخل أحدكم المسجد ، فليسلم على النبي(صلى) ، ثم ليقل اللهم افتح لي أبواب رحمتك ، وإذا خرج فليقل اللهم إني أسألك من فضلك

ความว่า "เมื่อคนใดคนหนึ่งจากพวกท่านได้เข้ามัสยิด ดังนั้นให้เขากล่าวสลามแด่ท่านนบี (ซล.) ต่อมาก็ให้เขากล่าวว่า اللهم افتح لي أبواب رحمتك (โอ้อัลเลาะห์ ขอพระองค์ทรงเปิดประตูแห่งความเมตตาของพระองค์ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด) และเมื่อเขาออกจากมัสยิด ก็ให้เขากล่าวว่า اللهم إني أسألك من فضلك (โอ้อัลเลาะห์ แท้จริงข้าพระองค์ ขอต่อพระองค์ท่านจากความโปรดปรานของพระองค์)" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามมุสลิม หะดีษที่ 713 และท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 722)

เสริม : ส่วนใหญ่ พวกเรามักจะละเลยจากการกล่าวดุอาอ์อันนี้ ซึ่งเป็นซุนนะห์ที่ไม่ยากเย็นเลย เพราะฉะนั้น พยายามกลับไปทำกันด้วยนะครับ เพื่อที่เราจะได้รับความโปรดปราณจากพระองค์จากถ้อยคำเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ แต่มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทางด้านของการตอบแทน เพราะดุอาอ์ ก็คือ มันสมองของอีบาดะห์ และเป็นการแสดงออกว่าผู้ที่ขอนั้น คือ บ่าวของพระองค์โดยแท้จริง

และมีรายงานจากท่านอับดุลเลาะห์บินอัมร์(รด.) ได้รายงานจากท่านนบี(ซล.)ว่า ครั้งหนึ่ง ท่านนบี(ซล.)ได้เข้ามาในมัสยิด และท่านก็กล่าวว่า

أعوذ بالله العظيم وبوجهه الكريم وسلطانه القديم من الشيطان الرجيم

และท่านนบี (ซล.) ก็กล่าวว่า "ใครกล่าวสิ่งดังกล่าว ชัยตอนจะกล่าวว่า วันนี้ทั้งวัน เขาถูกคุ้มครองให้ปลอดภัยจากฉันเสียแล้ว" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามอบูดาวูด หะดีษที่ 466)
3.การเข้ามัสยิดด้วยการสวมเสื้อผ้าที่น่าเกลียดพร้อมกับมีความสามารถที่จะสวมสิ่งที่ดีกว่าได้
เราจะเห็นได้ว่า มีอยู่มากมายเลยจากบรรดาผู้ทำละหมาด ที่ได้ไปยังมัสยิดด้วยการสวมเสื้อผ้าที่มีรอยฉีกขาด เกรอะกรัง หรือ มีกลิ่นที่น่ารังเกียจ ในขณะที่ยืนอยู่หน้าพระพักตร์แห่งอัลเลาะห์ (ซบ.) นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเรียกร้องให้พวกเขาทำการเปลี่ยนแปลงมันใหม่ด้วยกับเสื้อผ้าที่มีความเหมาะสม มิใช่เป็นการห้ามจากตัวของเขาที่จะมาทำละหมาด

แท้จริงอัลเลาะห์ (ซบ.) ได้ทรงส่งเสริมและสนับสนุนแก่ปวงบ่าวของพระองค์บนการประดับประดาให้เกิดความสวยงาม (แต่งตัวให้เหมาะสม) เมื่อต้องการไปมัสยิด ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า
ความว่า "โอ้วงศ์วานของอาดัมเอ๊ย พวกเจ้าจงสวมใส่เครื่องนุ่งห่มของพวกเจ้า ในทุกขณะ (ที่จะทำการภัคดีต่อพระองค์) ที่มัสยิดเถิด และพวกเจ้าจงกินจงดื่ม และอย่าสุรุ่ยสุร่าย แท้จริงพระองค์มิทรงรักบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่าย" (ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 31)

เสริม : บ่อยครั้งที่พวกเรามักจะลืมสำรวจตัวเราเองว่า เรากำลังจะเข้าเฝ้าพระองค์อัลเลาะห์ ทำให้เราไม่ค่อยสอดส่องในเรื่องของความสะอาด และเครื่องแต่งกาย ทั้งๆอิสลามของเราเน้นย้ำในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก มิหนำซ้ำบางคนก็พกพากลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ตามไปละหมาดด้วย ซึ่งถือว่า เป็นการทำลายความคู่ชั่วะในการละหมาดของบุคคลอื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาสิ่งที่สวยงามเหล่าเอานี้ไว้ ของให้พวกเราจงมาสำรวจเรื่องนี้ และพยายามปรับปรุงให้ดีที่สุดเถิด

ยิ่งไปกว่านั้น ได้มีรายงานจากท่านอิบนุอุมัร (รด.) ว่า ท่านนบี (ซล.) ทรงกล่าวว่า

إذا صلى أحدكم فليلبس ثوبيه فإن الله تعالى أحق من تزين له

ความว่า "เมื่อคนหนึ่งคนใดจากพวกท่านจะทำละหมาด ดังนั้นเขาจงสวมใส่เสื้อผ้า 2 ชิ้นเถิด แท้จริงอัลเลาะห์ (ซบ.) คือผู้ที่เหมาะสมที่สุดแก่เขา จากผู้ที่เขาจะประดับดาให้" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามอัฎต๊อบรอนีย์ ในหนังสือ อัลเอาซัฎ และซ่อฮีฮุ้ลญาเมี๊ยะ หะดีษที่ 650)
อธิบาย : หะดีษบทนี้ ได้สอนให้เรารับรู้ว่า แท้จริงอัลเลาะห์ (ซบ.) คือผู้ที่สมควรที่สุด ที่เราจะทำการแต่งกายให้สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกๆครั้งที่เราเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยการละหมาด แม้ว่าเสื้อเพียงชิ้นเดียวนั้น จะสามารถปกปิดเอารัตของเราในการละหมาดได้ เราก็ควรที่จะไปหามาประดับประดาเพิ่ม เพื่อให้สวยงามที่สุดในการเข้าพระองค์ และควรเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม และที่ดียิ่งให้ใส่ของหอมด้วย ไม่ว่าจะทำละหมาดคนเดียวหรือที่มัสยิดก็ตาม เพื่อเอาซุนนะห์ จาก 3 สิ่ง ที่ท่านนบี (ซล.) ทรงรักมากที่สุด นั่นคือ ละหมาด ของหอม และสตรีที่ซอและห์

4.การออกจากมัสยิดในขณะที่มีเสียงอาซาน
บางส่วนของผู้คนมักจะเดินออกจากมัสยิดหลังจากที่มีเสียงอาซานดังขึ้น การกระทำดั้งกล่าวนี้ ถือว่า เป็นความผิดพลาดที่น่าตำหนิ เพราะมีรายงานจากท่านอบูซะซาอ์ (รด.) ว่า

ครั้งหนึ่ง เรานั่งอยู่ในมัสยิดพร้อมกับท่านอบูฮู่รอยเราะห์ (รด.) ต่อมามู่อัซซิน (ผู้อาซาน) ก็ทำการอาซานเพื่อบอกเวลาละหมาด อยู่ๆก็ได้มีชายคนหนึ่งลุกขึ้นยืน และกำลังจะเดินออกจากมัสยิด ท่านอบูฮู่รอยเราะห์ (รด.) ก็ใช้สายตาของท่านมองตามชายคนนี้ไป จนกระทั่งชายคนนั้นได้เดินออกไปจากมัสยิด และท่านอบูฮู่รอยเราะห์ก็ได้กล่าวว่า แท้จริงเขาได้ฝ่าฝืนต่ออะบุ้ลกอเซ็ม (ซล.) แล้ว (ไม่ได้ปฎิบัตตามซุนนะห์) (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามมุสลิม เล่ม 5 / 219)

เสริม : ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ การที่คนๆหนึ่งเดินออกไปจากมัสยิดในขณะที่มีเสียงอะซาน ซึ่งสิ่งที่เขาสมควรทำ ณ เวลานั้น คือ ละทิ้งการกระทำทุกอย่าง และละทิ้งการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั่วๆไป หรือ การพูดปราศรัย และถึงแม้ว่าจะเป็นการเรียนการสอนในเรื่องของศาสนาก็ตาม เพราะการอาซานนั้น คือการประกาศให้มนุษย์ได้รับทราบว่า ขณะนี้ได้ถึงเวลาของพระเจ้าแล้ว อันเป็นเวลาที่เราจะต้องละทิ้งการกระทำต่างๆของเราทั้งหมด และมุ่งตรงมาสู่การละหมาดเพื่อพระองค์

ท่านอีหม่ามนะวะวีย์ (รฮ.)ได้กล่าวว่า : ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักโระห์) สำหรับการเดินออกไปนอกมัสยิดหลังจากเสียงอาซานสิ้นสุดลง จนกว่าเขาจะละหมาดฟัรดูเสียก่อน เวันแต่มีอุโซร (มีความจำเป็น)

เสริม : ดังนั้น เมื่อเสียงอาซานดังขึ้น เราควรสำรวมกิริยาและนิ่งฟังเสียงอาซาน ไม่พูดแทรก และถ้าเกิดมีอุโซร (มีความจำเป็นประการใดประการหนึ่งที่จะต้องออกไปนอกมัสยิด เช่น การที่คนหนึ่งมีน้ำละหมาดอยู่แล้ว และเกิดภายลมในขณะที่มีเสียงอาซาน) ที่ดีแล้ว ให้เขาออกไปเมื่อเสียงอาซานนั้นสิ้นสุดลง เพื่อมิให้เป็นการค้านกับแบบอย่างที่ดีของท่านอบูฮู่รอยเราะห์ จากตัวบททางด้านบน

5.การทำสิ่งใหม่ในมัสยิด
ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่ถือเป็นข้อผิดพลาดในมัสยิด ก็คือ การที่คนๆหนึ่งได้นำกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมา (การผายลม) แท้จริงสิ่งดังกล่าวนั้นได้ส่งผลเสียต่อมาลาอีกะห์ของอัลเลาะห์ (มาลาอีกะห์รังเกียจมัน) และส่งผลเสียต่อบรรดามุสลิมที่มาทำการละหมาด

แท้จริงท่านนบี(ซล.)ได้ทรงกล่าวว่า

أن الملئكة تصلى على شخص الذى يأتي المسجد للصلاة فتقول : اللهم صل عليه اللهم ارحمه مالم يؤذى فيه مالم يحدث فيه ، قيل : وما يحدث ؟ ، قال : يفسو أو يضرط

ความว่า "แท้จริงมาลาอีกะห์นั้น จะกล่าวพรแก่ผู้ที่มายังมัสยิดเพื่อทำการละหมาด โดยกล่าวว่า ขออัลเลาะห์ทรงซอลาวาต(ยกดารอญัตและอภัยโทษ)แก่เขาด้วย และขอพระองค์ทรงเมตตาเขาด้วย ตราบใดที่เขาไม่สร้างผลเสียในมัสยิด และไม่ทำสิ่งไหม่" ก็มีผู้กล่าวขึ้นว่า : อะไรคือสิ่งไหม่ ? ท่านร่อซู้ลก็ทรงตอบว่า "การผายลมเบาๆ(ที่ไม่มีเสียง) หรือ การผายลม(ที่มีเสียง)" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามมุสลิม หะดีษที่ 661 และอีหม่ามนะซาอีย์ 2 / 55)

6.การพูดคุยในเรื่องดุนยา
แท้จริงแล้วศาสนาอิสลาม มิได้ห้ามจากการพูดคุยในเรื่องทั่วๆไป(ที่อนุญาติให้พูดคุยได้)ในมัสยิด ตราบใดที่การสนทนานั้น ไม่ได้เป็นการรบกวนต่อผู้ที่กำลังทำอีบาดะห์ในมัสยิด แต่ทว่า เขาจะต้องไม่พูดในขณะที่มีการละหมาด หรือ กำลังเข้าสู่การละหมาด

เสริม : มีหะดีษอยู่บทหนึ่ง ซึ่งมีผู้ที่กล่าวอ้างว่า ท่านร่อซู้ลกล่าวว่า "ใครพูดคุยเรื่องดุนยาในมัสยิด อัลเลาะห์จะไม่รับการละหมาดของเขา 40 ปี" หะดีษนี้ เป็นหะดีษที่ด่ออีฟ และไม่อาจนำมาใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับฮู่ก่มการตัดสินทางด้านของฟิกห์ได้ ดังนั้น จึงไม่ถือว่ามีข้อห้ามแต่ประการใดที่เราจะพูดคุย หรือ สนทนากันในเรื่องที่มู่บาฮ์ตามหลักการของศาสนา

และได้มีการยืนยันจากบรรดาซอฮาบะห์ว่า แท้จริงพวกเขาได้สนทนากันในเรื่องราวที่พวกเขาเคยกระทำในยุคญาฮีลียะห์ บนการฟังของท่านร่อซู้ล (ซล.) ซึ่งในขณะนั้นพวกเขานั่งอยู่ในมัสยิด ท่านซัมมาก บิน ฮัรบ์ ได้กล่าวกับ ท่านญาบิร บิน ซ่ามู่เราะห์ ว่า : ปรากฏว่าฉันได้นั่งอยู่พร้อมกับท่านร่อซู้ล (ซล.)ใช่หรือไม่ ? (ชายคนนี้ถามด้วยความสงสัย) ท่านญาบิรก็ตอบว่า: ใช่, และก็กล่าวต่อไปว่า มีอยู่มากมายจากผู้คนที่จะยังไม่ลุกขึ้นจากที่ละหมาดของเขาในเวลาซุบฮี่ หรือ ละหมาดในยามเช้า จนกว่าดวงอาทิตย์จะขึ้น ครั้นเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว พวกเขาก็จะยืนขึ้น และปรากฏว่า พวกเขาก็จะพูดคุยกัน ดังนั้น พวกเขาก็จะนำเรื่องราวในสมัยญาฮีลียะห์มาสนทนากัน และพวกเขาก็จะหัวเราะกัน บ้างก็จะยิ้ม (บันทึกโดยอีหม่ามมุสลิม หะดีษที่ 670)

การสนทนาอันนี้ ถูกตีความไปบนการการสนทนาที่ไม่เป็นการรบกวน (สร้างความเสื่อมเสีย) แก่ผู้อื่น และเขาจะต้องไม่ห้ามผู้คนจากการกระทำสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้ และแท้จริง การที่ท่านร่อซู้ล (ซล.)ได้ปล่อยพวกเขาไว้โดยมิได้ห้ามปรามนั้น เป็นส่วนหนึ่งจากการดะอ์วะห์ของท่านอย่างเป็นขั้นตอน (คือเมื่อพวกเขามีอีหม่านที่สูงขึ้น พวกเขาย่อมรับรู้ว่าสิ่งใดควรพูดและสิ่งใดไม่ควรพูดในมัสยิด)

ประโยชน์ที่สำคัญ : บางส่วนของผู้คนมักจะห้ามจากการพูดจาในมัสยิดจากเรื่องทั่วๆไป ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงตัวบทของหะดีษ (ดังกล่าว) ที่พาดพึงไปยังท่านร่อซู้ล (ซล.) ซึ่งพวกเขาได้พาดพึงไปหาท่านร่อซู้ลด้วยตัวบทที่ว่า

الكلام في المسجد يأكل الحسنات كما تأكل النار الحطب

ความว่า "การพูดคุยในมัสยิดนั้น จะกิน (เผาพลาญ) ความดี เสมือนกับ การที่ไฟได้กิน (เผาพลาญ) ไม้ฟืน"

ท่านอีหม่ามตะกียุดดีน อัสซุบกีย์ ได้กล่าวถึงหะดีษบทนี้ว่า : ฉันไม่พบสายรายงานของมัน (จาก ต่อบะกอตุ้ชชาฟี่อียะห์ 4 / 145)
ดังนั้น หะดีษบทนี้ จึงไม่อาจเอามาเป็นหลักฐานเพื่อหักล้างจากการพูดคุยในมัสยิดได้

7.การใช้เสียงดังๆในมัสยิด
ส่วนหนึ่งจากข้อผิดพลาดที่น่าเกลียด ก็คือ การพูดคุยกันของผู้คนในมัสยิดจากเรื่องราวต่างๆของดุนยา โดยใช้เสียงที่สูง และเสียงที่ดัง อันเกิดจากการหัวเราะ จากการปรบมือชอบใจดังๆ และการผิวปากที่ก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น สิ่งนี้ถือเป็น การทำลายข้อห้าม (ที่ไม่สมควรกระทำ) ในบ้านของอัลเลาะห์ (ซบ.) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถูกจัดเตียมไว้เพื่อการอิบาดะห์ต่อพระองค์ และเช่นเดียวกัน การกระทำเหล่านี้ ยังเป็นการสร้างอันตราย (รบกวน) ผู้ทำการละหมาด และเป็นการห้าม (ความคู่ชั่วะอ์) ของผู้ที่ทำอีบาดะห์อีกด้วย

และแท้จริงท่านนบี(ซล.)ทรงห้ามจากการใช้เสียงดังๆในมัสยิด ซึ่งมีรายงานจากท่านอบูสอี๊ด อัลคุดรีย์ (รด.) ว่า : ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล (ซล.) ทรงนั่งเอี๊ยะติกาฟอยู่ในมัสยิด และท่านก็ได้ยินพวกเขา (ซอฮาบะห์)เสียงดังด้วยกับการอ่าน (อัลกุรอาน) และก็มีการเปิดเผยเอาเราะห์ ดังนั้น ท่านนบี (ซล.) ก็ทรงตรัสว่า

ألا إن كلكم مناج ربه ، فلا يؤذين بعضكم بعضا ، ولا يرفع بعضكم على بعض فى القراءة

ความว่า "พึงทราบเถิดว่า แท้จริงพวกท่านเป็นผู้ที่มาเข้าเฝ้า (เป็นผู้ที่รำพึง,ภาวนา) ต่ออัลเลาะห์ ดังนั้น บางส่วนของพวกท่านอย่าได้สร้างอันตราย (รบกวน) ต่ออีกบางส่วน และบางส่วนของพวกท่านก็อย่ายกเสียงดังในการอ่าน (กุรอาน) ต่ออีกบางส่วน" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามอบูดาวูด หะดีษที่ 1203 และอีหม่ามอะห์หมัด 3 / 94 ด้วยสายรายงานที่ซอเฮี๊ยะ)

และการห้ามในที่นี้ ก็คือ ในขณะที่มีการอ่านเสียงดังในเรื่องของการซิกรุ้ลลอฮ์และการอ่านอัลกุรอาน

เสริม : การอ่านกุรอ่านนั้น ไม่ควรอ่านเสียงดังเพื่อเอาอร่อยเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการอ่านเสียงดังในมัสยิดนั้น ก็เป็นการรบกวนผู้ทำอีบาดะห์คนอื่นๆด้วย ที่ดีแล้วให้อ่านด้วยน้ำเสียงปานกลาง และอ่านให้ถูกต้องตามกฎของการอ่าน (ตัจวีด) และพยายามใคร่ครวญถึงความหมายของมัน และให้เหนียตเพื่อทำการศึกษาความหมายของมัน อันจะเป็นผลบุญในด้านของการศึกษาอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนการซิกรุ้ลเลาะห์หลังละหมาดดังๆ หรือ เวลาใดก็แล้วแต่ ก็ควรคำนึงถึงผู้ที่ กำลังทำละหมาดสุนัตด้วย เพื่อมิให้เสียงของท่านไปรบกวนผู้ที่กำลังทำอีบาดะห์ต่ออัลเลาะห์ (ซบ.)

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด ก็คือ ควรอยู่ร่วมรำลึกถึงอัลเลาะห์พร้อมๆกับอีหม่ามและมะอ์มูมคนอื่นๆ ซึ่งไม่เป็นสมควรเลยที่จะลุกแยกตัวขึ้นไปทำละหมาดสุนัตในขณะที่อีหม่ามและมะอ์มูมคนอื่นๆกำลังร่วมกันทำวีริดหลังละหมาด ผมเห็นว่า ทางที่ดีแล้วให้ละหมาดสุนัตหลังจากวีริดเสร็จแล้ว เพราะจะได้ทั้งผลบุญของการซิเกร และผลบุญของการละหมาดสุนัต และไม่ถือเป็นการสร้างความแตกต่างในญามาอะห์อีกด้วย และไม่ทำให้ผู้ที่กำลังร่วมทำวีริดนั้น มีความผิดในฐานะรบกวนผู้ทำอีบาดะห์คนอื่นๆด้วย



8.การซื้อขายในมัสยิด
ส่วนหนึ่งจากบรรดาข้อผิดพลาด ก็คือ การซื้อขายในมัสยิด ซึ่งบางส่วนของผู้คนจะทำการซื้อขายกันในมัสยิด (ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเกลียดและไม่เหมาะสมทั้งการกระทำและสถานที่) และแท้จริงท่านนบี (ซล.)ทรงสั่งห้ามจากการทำสิ่งดังกล่าว โดยท่านได้กล่าวว่า

إذا رأيتم من يبيع أو يبتاع فى المسجد فقولوا له : لا أربح الله تجارتك

ความว่า "เมื่อพวกท่านเห็นใครที่กำลังทำการค้า หรือ กำลังซื้อขายกัน ในมัสยิด ดังนั้น พวกท่านจงกล่าวแก่เขาเถิดว่า : อัลเลาะห์ไม่ทำให้ท่านมีกำไรจากการซื้อขายนี้หรอก" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามติรมีซีย์ 1 / 248 และอีหม่ามฮากิม 2 / 56 ด้วยสายรายงานที่ซอเฮี๊ยะ จากท่านอบีฮู่รอยเราะฮ์)

9.การวางม้านั่งในมัสยิดสำหรับมู่บัลลิฆ (مبلغ) "ผู้ที่ทำหน้าที่ประกาศคำกล่าวของอีหม่าม"
ส่วนหนึ่งจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในมัสยิด ก็คือ การวางม้านั่งไว้ในมัสยิด ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่อาซาน หรือ มู่บัลลิฆ "ผู้ที่ทำหน้าที่ประกาศคำกล่าวของอีหม่าม" จะใช้นั่งเวลาทำหน้าที่ หรือ ผู้ที่อ่านซูเราะห์อัลกะห์ฟี่ในคืนวันศุกร์จะใช้มันเพื่อนั่งอ่าน และการวางเก้าอี้เอาไว้ในมัสยิดโดยจัดเตรียมไว้ให้กับการอ่านดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน(ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดตามทัศนะของผู้แต่งหนังสือ) ซึ่งเตียมไว้สำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญกับมัสยิด(คือผู้ที่จะอยู่ทำอีบาดะห์ในมัสยิดในคืนวันศุกร์)

เสริม : จากตรงนี้ ผมเข้าใจว่า จริงๆแล้วผู้แต่งหนังสือต้องการจะบอกเราว่า ไม่อนุญาติให้เรานำเก้าอี้ หรือ ม้านั่ง มาวางไว้ในมัสยิดในส่วนของตัวอาคารที่ใช้ทำการอีบาดะห์ แต่ถ้าหากวางไว้รอบๆมัสยิดนั้น ไม่ถือว่า มีข้อห้ามแต่ประการใด และไม่อนุญาตให้ผู้ทำหน้าที่ประกาศคำเชิญชวน "มู่อัซซิน" หรือ "มู่บัลลิฆ" นั้น นั่งอาซาน หรือ นั่งบอกคำกล่าวของอีหม่าม ส่วนการนำเก้าอีมานั่งสำหรับคนที่มีอุโซร "มีความจำเป็น" เช่น ชรา หรือ ป่วยไม่สามารถยืนละหมาดนานๆได้ ก็อนุญาตให้เอามานั่งได้ และเมื่อเสร็จจากการละหมาดแล้ว ก็ให้นำออกไปนอกตัวอาคารที่ใช้ทำละหมาด
ส่วนในกรณีของการนำเก้าอี้มาจัดเตรียมไว้เพื่อการนั่งอ่านซูเราะห์อัลกะห์ฟี่เป็นการเฉพาะในคืนวันศุกร์นั้น ตามความเข้าใจของผู้แต่งนั้น คือ ไม่อนุญาตให้ทำเช่นกัน เพราะไม่มีแบบอย่างจากการกระทำเช่นนั้นในยุคของท่านร่อซู้ล (ซล.) และยุคของบรรดาซอฮาบะห์ (ในเรื่องของการจัดเตรียมเก้าอี้เอาไว้เพื่อการอ่านเป็นพิเศษ) ที่ดีแล้ว สมควรที่จะนั่งอ่านกับพื้นมัสยิด (แต่สำหรับผู้ที่นำมานั่งอ่านโดยไม่ได้จงใจจะทำเป็นเป็นการเฉพาะ ก็ถือว่า อนุญาตให้ทำได้ แต่ที่ดีแล้ว ควรจะนั่งอ่านกับพื้นของมัสยิดเพื่อรักษาไว้ซึ่งมารยาทที่สวยงามในมัสยิด)

ส่วนการรวมตัวกันเพื่อทำการอ่านเป็นกรณีเฉพาะ (โดยไม่ได้นั่งอ่านบนเก้าอี้หรือม้านั่งที่เตียมไว้)นั้น ก็อาจจะมองได้เป็น 2 กรณี คือ

1. ไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น เพราะไม่มีแบบอย่างและที่มาจากการรวมตัวกันเพื่ออ่านซูเราะห์กะห์ฟี่ในคืนวันศุกร์ แต่ที่อนุญาตให้ทำได้จากกรณีนี้ ก็คือ ต่างคนต่างทำ และสามารถกระทำได้ทั้งที่บ้านและมัสยิด

2. อนุญาตให้ทำได้ เช่น การที่คนหนึ่งนำอ่าน และคนอื่นๆก็อ่านตาม โดยอาศัยหลักฐานแบบกว้างๆของอายะห์อัลกุรอานที่อัลเลาะห์ (ซบ.) ทรงตรัสว่า

فاستبقوا الخيرات

ความว่า "ดังนั้นพวกเจ้าทั้งหลายท่านจงแข่งขันกันในเรื่องของความดี" (ซูเราะห์ อัลบากอเราะห์ อายะห์ที่ 148)

จากหลักการกว้างๆของอายะห์ ก็คือ ให้เราแข่งขันกันในการทำความดี แต่มิใช่หมายถึง "จัดการแข่งขันการทำความดีเป็นการเฉพาะ" แต่อายะห์นี้ หมายถึง ให้เราทั้งหลายตักตวงกระทำในสิ่งที่มันเป็นความดีงาม โดยแข่งกันทำในสิ่งที่เป็นคุณงามความดีต่างๆ (มิใช่แข่งขันเพื่อเอาชนะ) ซึ่งเดิมทีก็เป็นลักษณะนิสัยของบรรดาซอฮาบะฮ์อยู่แล้ว ดังนั้น การรวมตัวเพื่ออ่านอัลกุรอ่าน (ซูเราะห์กะห์ฟี่ หรือซูเราะห์อื่นๆ) ในค่ำคืนวันศุกร์นั้น จึงอนุญาตให้ทำได้ แม้ว่ารูปแบบของการรวมตัวเพื่ออ่านนั้น จะไม่เคยมีปรากฏอยู่ในสมัยของท่านร่อซู้ลและสมัยของบรรดาซอฮาบะห์ก็ตาม เช่นเดียวการรวมตัวกันเพื่อทำความดีในงานต่างๆ แม้ว่างานนั้น ไม่มีปรากฏอยู่ในสมัยของท่านร่อซู้ลและสมัยของบรรดาซอฮาบะห์ เพียงแต่ผู้กระทำจะต้องไม่ไป "เอี๊อะติกอด" ยึดมั่นว่า การรวมตัวนั้น คือ อิบาดะห์ที่มีรูปแบบเฉพาะ หรือ เป็นรูปแบบของศาสนา ถ้าอย่างนี้ ก็จะตกเป็นบิดอะห์ในฐานะที่ไปรวมตัวกันกระทำในสิ่งที่ไม่มีตัวบททางศาสนา

เมื่อเข้าใจตามนี้ ก็อนุญาตให้รวมตัวและกระทำการอ่านได้ โดยอาศัยหลักฐานกว้างจากอายะห์อัลกุรอานดังได้กล่าวมาแล้ว และอาศัยหลักฐานสนับสนุนจากหะดีษที่รายงานจากท่าน ญ่ารีร บิน อับดุลเลาะห์ ที่ว่า ท่านร่อซู้ล (ซล.) ทรงกล่าวว่า

"ใครก็ตามที่ได้วางแนวทางหนึ่งไว้ในอิสลาม ซึ่งเป็นแนวทางที่ดี และก็มีผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางนั้นหลังจากเขา ก็จะถูกบันทึกให้กับเขาซึ่งผลบุญ เท่ากับผลบุญของผู้ที่กระทำตามแนวทางนั้น โดยไม่ลดหายไปเลยสักสิ่งหนึ่ง และใครก็ตามที่ได้วางแนวทางหนึ่งไว้ในอิสลาม ซึ่งเป็นแนวทางที่ชั่วร้าย และก็มีผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางนั้นหลังจากเขา ก็จะถูกบันทึกให้กับเขาซึ่งบาป (ความผิด) นั้น เท่ากับบาปของผู้ที่กระทำตามแนวทางนั้น โดยไม่ลดหายไปเลยสักสิ่งหนึ่ง" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามมุสลิม จากซอเฮี๊ยะมุสลิม ช่าเราะห์โดยท่านอีหม่ามนะวาวีย์ 16 / 226)

ดังนั้น ผู้ที่ชักชวนผู้คนทำความดีด้วยการร่วมกันอ่าน จึงถือว่า เป็นการริเริ่มจากแนวทางที่ดีตามครรลองของศาสนา และสอดคล้องกับการริเริ่มด้วยรูปแบบที่ดีตามหลักกว้างๆของหะดีษบทนี้ จึงอนุญาตให้รวมตัวกันเพื่ออ่านได้ โดยมีข้อแม้ คือ จะต้องไม่ไปยึดมั่นว่า การรวมตัวกันเพื่ออ่านนั้น คือ รูปแบบทางศาสนาที่มาจากอัลเลาะห์และร่อซู้ล



10.การเอามัสยิดเป็นทางผ่าน
 ถือเป็นเรื่องที่ผิดพลาดอีกเช่นกัน ในการเอามัสยิดเป็นทางผ่าน ที่ใช้ผ่านจากสถานที่หนึ่งไปสู่อีกสถานที่หนึ่ง แท้จริงท่านนบี (ซล.) ทรงห้ามจาการกระทำดังกล่าว จากคำกล่าวของท่านที่ว่า

لا تتخذوا المساجد طرقا الا لذكر أو صلاة

ความว่า "พวกท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดเอามัสยิดเป็นแนวทาง(เพื่อใช้ผ่าน) เว้นแต่เพื่อการรำลึกถึง(อัลเลาะห์) หรือ เพื่อทำละหมาด" (รายงานโดย ท่านฎ๊อบรอนีย์ ในหนังสือ อัลก่าบีร จากท่านอิบนุอุมัร และซ่อฮีฮุ้ลญาเมี๊ยะอ์ หะดีษที่ 7215)

เสริม : การห้ามตรงนี้ ตกอยู่ในข่ายของ "มักโร๊ะห์" คือ ไม่สมควรกระทำ ไม่ใช่ถือเป็นเรื่อง "ฮ่ารอม" ที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด ดังนั้นที่ดีแล้ว ควรจะเลี่ยงจากการใช้มัสยิดเป็นทางสัญจรเพื่อจะผ่านไปในอีกสถานที่หนึ่ง เพราะไม่เหมาะสมจากการทำให้บ้านของอัลเลาะห์เป็นสถานที่สำหรับทางสัญจร แต่ถ้าหากมีอุโซร (มีอุปสรรค) ที่ต้องอาศัยมัสยิดเป็นทางผ่านจริงๆ เช่น ลืมของสำคัญไว้ ถ้าจะเดินอ้อมมัสยิดก็คงอีกนาน ของที่ลืมไว้อาจจะหายได้ อย่างนี้ ก็อนุโลมให้ผ่านได้โดยไม่ถือเป็นมักโร๊ะห์

11.การห้ามจากการศึกษาวิชาและการแสวงหาความรู้จากมัสยิด
และแท้จริงมันได้เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นการอุตริในศาสนา นั่นคือ การไล่ผู้ที่มาละหมาด หรือ ผู้ที่แสวงหาวิชาความรู้ในมัสยิด หลังจากละหมาดอีชาแล้ว และห้ามพวกเขาจากการแสวหาวิชาความรู้ และการดับพัดลม หรือ ปิดไฟ บนพวกเขา เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการละหมาด(เช่นในกรณีของคนที่กำลังทำละหมาดสุนัตหลังละหมาดอีชา) เพื่อที่จะปิดมัสยิด และแท้จริงแล้ว ปรากฏว่าตามซุนนะห์นั้น มีการเปิดมัสยิดไว้โดยตลอดในทุกๆเวลา (เพื่อจะมีผู้คนที่มาทำการละหมาดหรือมาทำอีบาดะห์อื่นๆในยามคำคืน) เพราะแท้จริงสิ่งดังกล่าวนั้น คือ ร่องรอย (แบบอย่าง) ที่มาจากมัสยิดของท่านร่อซู้ล (ซล.) ในสมัยของท่าน และสมัยของบรรดาคอลีฟะห์อัรรอชี่ดีน (รด.)

เสริม : ที่ดีแล้ว ผู้ที่เป็นอีหม่ามจะต้องแต่งตั้งคนหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการดูแลมัสยิดโดยเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่จะอยู่ทำอีบาดะห์ต่อในมัสยิด หลังจากละหมาดอีชาแล้ว หรือ เพื่อทำการศึกษาหาความรู้ หรือ เพื่อจะมาทำอีบาดะห์ต่อในยามค่ำคืน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวที่ท่านร่อซู้ลและบรรดาซอฮาบะห์ได้กระทำเป็นแบบอย่างเอาไว้

12.การสูบบุหรี่ในห้องน้ำของมัสยิด
ถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว การสูบบุหรี่นั้น มันคือ สิ่งต้องห้ามในทุกๆเวลาและทุกๆสถานที่ (ตามทัศนะของผู้แต่งหนังสือที่มองว่าบุหรี่นั้น เป็นสิ่งต้องห้าม) และถือว่าห้ามมากขึ้นไปอีก เมื่อนำไปสูบในบ้านของอัลเลาะห์ (คือในมัสยิด)

ดังนั้น ท่านจะพบได้ว่า มากมายเลยจากผู้ที่มาละหมาด เมื่อได้เข้าไปห้องน้ำของมัสยิด เขาก็จะจุดไฟสูบบุหรี่ มิหนำซ้ำ บางท่านยังเข้ามัสยิดในสภาพที่บุหรี่นั้น ยังคงคาอยู่ที่ปากของเขา จนกระทั่งเมื่อเขาได้ไปถึงที่ละหมาด เขาถึงจะดับไฟของบุหรี่ และเข้าสู่การละหมาดในทันที (ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมาก) เพราะเป็นการบกวน (สมาธิ) ของพี่น้องของเขาที่มาร่วมละหมาดจากกลิ่นของบุหรี่ (ที่ติดมากับตัวของเขา)

เสริม : บทสรุปจากเรื่องของการสูบบุหรี่นั้น ไมได้มีตัวบทที่ชัดเจนจากการสั่งห้าม เพราบุหรี่นั้น เกิดมาในยุคหลังจากการวะฟาตของท่านร่อซู้ล (ซล.) นับเป็นร้อยๆปี เนื่องจากพึ่งจะเป็นที่รู้จักในโลกอาหรับเมื่อตอนปลายศตวรรษที่ 10 หรือต้นศตวรรษที่ 11 แห่งฮิจเราะห์ศักราช (ตรงกับปลายศตวรรษที่ 16 หรือต้นศตวรรษที่ 17 แห่งคริสต์ศักราช) ทำให้นักวิชาการของอิสลามที่อยู่ในยุคต่อมา คือ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 11 แห่งฮิจเราะห์ศักราช ต้องทำการวิเคราะห์และวินิจฉัย และผลของการวิเคราะห์และวินิจฉัยนั้น ก็มีความแตกต่างกัน เท่าที่ผมศึกษาและวิเคราะห์ดูนั้น สามารถแยกฮู่ก่มของการสูบบุหรี่ได้ 3 ทัศนะใหญ่ๆ คือ

1.ถือว่า "ฮ่ารอม" นักวิชาการที่ยึดทัศนะนี้ เช่น ท่านอีซา อัชชะฮาวีย์ , ท่านอับดุลบากีย์ , ท่านมุฮัมมัด อิบนุซิดดี๊ก อัซซุบัยดีย์ จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามฮานาฟีย์ / ท่านอิบรอฮีม อัลลิกอนีย์ , ท่าน อะบุ้ลฆอยซ์ อัลเกาะชาช จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามมาลีกีย์ / และท่านเชคนัจญ์มุจดีน อัดดิมัชกีย์ , ท่านเชคอิบนุอิลาน อัศศิดดีกีย์ , ท่านอุมัร อิบนุ อับดุรเราะมาน อัลหุสัยนีย์ , ท่านชัยค์ อามิร อัชชาฟิอีย์ , เชคอัลกอลยูบีย์ , และเชคอัลบุญัยรีมีย์ จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามชาฟีอีย์ / และท่านเชคอะห์มัด อัสสันฮูรีย์ อัลบะฮูตีย์ จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามอะห์หมัด.

นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ให้เหตุผลว่า : เพราะยาสูบทำให้เกิดอาการมึนเมา และทุกสิ่งที่ทำให้เกิดความมึนเมานั้น เป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด (ฮ่ารอม) ดังนั้น การบริโภคยาสูบจึงเป็นสิ่งที่ฮ่ารอม นักวิชาการกลุ่มนี้ให้เหตุผลอีกว่า หากไม่ถึงขนาดทำให้มึนเมา แต่แน่นอนมันทำให้เกิดความเชื่องช้า เซื่องซึม และเหนื่อยอ่อน ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามอีกเช่นเดียวกัน ดังปรากฏในหะดีษที่เล่าจากท่านหญิงอุมมู่ สะละมะฮ์ ว่า

نهى رسول الله صلى الله عليه وسلم عن كل مسكر ومفتر

ความว่า แท้จริงท่านร่อซู้ล(ซล.)ทรงห้ามจากทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาและสิ่งที่ทำให้อิดโรยเซื่องซึม” (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามอบูดาวูด จากอุมมุสะละมะฮ์ หะดีษที่ 3688)

นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่า การบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด เพราะก่อภยันตราย 2 ด้านด้วยกัน คือ เป็นภัยต่อร่างกาย และเป็นภัยต่อทรัพย์สิน
- ภัยต่อร่างกาย คือ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ทำให้สีหน้าซีดเหลือ และมีอาการไออย่างรุนแรงและอาจนำไปสู่การเป็นวัณโรคได้ แม้ว่าอาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆก็ตาม
- ภัยต่อทรัพย์สิน คือ เป็นการใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างฟุ่มเฟือย และไม่ก่อประโยชน์ใดๆทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาณ อีกทั้งไม่มีคุณค่าทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮ์

2.ถือว่า "มักโร๊ะห์" นักวิชาการที่ยึดทัศนะนี้ เช่น ท่านเชคอะบูซะฮล์ มุฮัมมัด อิบนุ อัลวาอิฎ ,ท่านอิบนุอาบิดีน จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามฮานาฟีย์ / เชคยูซุฟ อัศศิฟะตีย์ จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามมาลีกีย์ / ท่านอัชชัรวานีย์ จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามชาฟีอีย์ / ท่านอัรร่อฮีบานีย์ , และเชคอะห์หมัด มุฮัมมัด อัลมันกูร อัตตะมีมีย์ จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามอะห์หมัด.

นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ให้เหตุผลว่า : เพราะยาสูบมีกลิ่นฉุนที่น่ารังเกียจ จึงถือเป็นสิ่งที่มักโร๊ะห์ โดย  กิยาสกับหัวหอม กระเทียม หรือสิ่งอื่นที่มีกลิ่นที่น่ารังเกียจเช่นเดียวกัน และได้ให้เหตุผลอีกว่า บุหรี่นั้น ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพย์สิน และแม้ว่าการใช้จ่ายในการบริโภคยาสูบ จะไม่ถึงขนาดที่เรียกว่าสุรุ่ยสุร่าย หรือเข้าข่ายการทำลายทรัพย์สินโดยเปล่าประโยชน์ก็ตาม เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ทรัพย์สินสิ้นเปลือง ร่อยหรอลง โดยไม่คุ้มค่า ทั้งที่ควรนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่ดีกว่าและเกิดประโยชน์มากกว่าทั้งต่อตัวเองและสังคม

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากหลักฐานที่นักวิชาการในกลุ่มที่เห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามได้นำมาอ้างอิงนั้น เป็นเพียงหลักฐานจากการกิยาส ซึ่งให้ผลลัพท์ในเชิงปฎิบัติได้เพียง "อาจเป็นไปได้ว่าต้องห้าม" หรือ "มีความหมายทางการคาดคะเน"  (الظن) เท่านั้น หลักฐานดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะนำไปเป็นหลักฐานในการตัดสินว่า การบริโภคยาสูบนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด หรือ หะรอม แต่ก็สามารถที่จะนำไปเป็นหลักฐานอ้างอิงได้ว่า การบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามที่ไม่เด็ดขาด หรือ มักโร๊ะห์ นั่นเอง

3.ถือว่า "มู่บาฮ์" นักวิชาการที่ยึดทัศนะนี้ เช่น ท่านเชคอับดุลฆอนีย์ อัลนาบละซีย์ , เชคมูฮำมัด อัลอับบาซีย์ อัลมะฮ์ดีย์ จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามฮานาฟีย์ / ท่านอลี อัลอัจญ์ฮูรีย์ , ท่านอัดดุสูกีย์ , และท่านเชคศอวีย์ จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามมาลีกีย์ / ท่านเชคหะฟะนีย์ , ท่านเชคหะละบีย์ , ท่านอัชชุบรอมละซีย์ , ท่านอับดุลกอดิร อิบนุ มุฮัมมัด อิบนุยะห์ยา อัลหุซัยนีย์ จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามชาฟีอีย์ / ท่านอัลกะรอมีย์ , และท่านอีหม่ามอัชเชากานีย์ จากนักวิชาการในสายของอีหม่ามอะห์หมัด

นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ใช้หลักกออีดะห์ที่ว่า : الأصل في الأشياء الإباحة حتى يرد نص بالتحريم แปลว่า "หลักเดิมของทุกสิ่งนั้นเป็นที่อนุมัติ จนกว่าจะมีหลักฐานห้าม" โดยได้นำกออีดะห์นี้ มาเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ของการมู่บาฮ์ในเรื่องของบุหรี่ เพราะเมื่อยาสูบไม่มีหลักฐานที่มากำกับห้ามไว้โดยเฉพาะ ทั้งจากอัลกุรอานและอัสซุนนะห์ จึงเป็นสิ่งที่อัลเลาะห์ (ซบ.) ทรงอภัยให้ และในการฮู่ก่มว่ายาสูบเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮ่ารอม) หรือ เป็นสิ่งน่ารังเกียจ (มักโร๊ะห์) อาจเป็นการทำอุตริกรรมต่ออัลเลาะห์ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดมหันต์ ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังจากพฤติกรรมดังกล่าว ฉะนั้น จึงไม่มีทางออกอันอื่น นอกจากต้องฮู่ก่มว่า การบริโภคยาสูบนั้น "เป็นสิ่งอนุมัติ" (มู่บาฮ์) เพราะเป็นการตัดสินไปตามหลักเดิม และท่านนบีมูฮำหมัด (ซล.) นั้น ในขณะท่านถูกถามเกี่ยวกับเรื่องสุราหรือสิ่งมึนเมานั้น ท่านก็ไม่ด่วนตัดสินก่อนที่จะมีโองการแห่งอัลกุรอานประทานลงมา ทั้งๆที่ท่านอยู่ในสถานะของผู้ที่สามารถชี้ขาดได้ แต่ท่านก็ประวิงเวลาเอาไว้ จนกระทั่งอัลเลาะห์ (ซบ.) ทรงประทานอัลกุรอานลงมาเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า สุรานั้นเป็นสิ่งต้องห้าม ดังนั้น ในกรณีของ บุหรี่ หรือ ยาสูบ เมื่อมีการถามถึงฮู่ก่ม หรือ ความชอบธรรมทางศาสนาอิสลาม จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะตอบว่า สิ่งนี้ถือว่า "มู่บาฮ์" แม้ว่ากลิ่นของมันจะเป็นที่น่ารังเกียจก็ตาม เพราะความน่ารังเกียจตรงนี้ มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นความน่ารังเกียจที่เกิดขึ้นตามหลักการของศาสนา

ส่วนเรื่องของความมึนเมา เสียสติ และภยันตรายจากการสูบนั้น ที่จะนำมาเป็นข้ออ้างในการฮู่ก่มห้ามนั้น ถือว่า ยังไม่ชัดเจน นักวิชาการกลุ่มนี้จึงมีความเห็นว่า ยาสูบ หรือ บุหรี่ นั้นไม่ได้ทำให้เกิดการมึนเมา และเสียสติ ที่ต้องห้ามสูบ เพราะการมึนเมานั้น หมายถึง การเสียสติสัมปชัญญะในขณะที่ยังแข็งแรงและสามารถเคลื่อนไหวอวัยวะร่างกายได้ และการเซื่องซึมขาดสตินั้น ก็หมายถึง การเสียสติสัมปชัญญะในขนาดที่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียไม่สามารถเคลื่อนไหวใดๆได้ ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ มิได้เกิด จากการบริโภคยาสูบ หรือ การสูบบุหรี่ เป็นการเฉพาะ แม้ว่าบุคคลที่ไม่เคยสูบนั้น อาจจะมีอาการมึนๆ หรือ ตึงๆ บ้าง แต่นั่นก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลว่า บุหรี่ หรือ ยาสูบ เป็นสิ่งต้องห้าม ที่ "ฮ่ารอม" ตามหลักการของศาสนา

แต่ทัศนะจากนักวิชาการส่วนมากในยุคหลังนั้น ถือว่า บุหรี่ นั้น เป็นสิ่งต้องห้าม ผู้ที่มีทัศนี้ เช่น เชคอับดุลอซีซ บิน บาซ , เชคมูฮำหมัด บิน ซอและห์ อัลอุษัยมีน , เชคยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ , เชคมะห์มูด ชัลตูต , ท่านเชคซัยยิดซาบิก , เชคอับดุลญะลี้ล ชะละบีย์
ดังนั้น ทัศนะที่ถือว่า "ชัดเจนที่สุด" ก็คือ ทัศนะที่ถือว่า การสูบบุหรี่นั้น "เป็นสิ่งที่ฮ่ารอม" โดยอาศัยเหตุผลต่อไปนี้ :
1.เป็นการนำตัวเองเข้าสู่ความหายนะ ดังโองการที่ว่า

ความว่า "และพวกเจ้าจงอย่ายื่นมือของพวกเจ้าสู่ความหายนะ" (ซูเราะห์ อัลบากอเราะห์ อายะห์ที่ 195)

2.การสูบบุหรี่นั้น อยู่ข่ายของความสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลเลาะห์ (ซบ.) ทรงห้าม ดังโองการที่ว่า

ความว่า "และพวกเจ้าทั้งหลายจงกิน จงดื่ม แต่พวกเจ้าอย่าสุรุ่ยสุร่าย แท้จริงอัลเลาะห์ไม่รักบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่าย" (ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 31)

3.เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้าง

ความว่า "และบรรดาผู้ที่สร้างความเดือดร้อนแก่มวลผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิง ด้วยสิ่งที่พวกเขามิได้พากเพียรไว้ แน่นอน พวกเหล่านั้นย่อมต้องแบกความเท็จ และบาปอันชัดแจ้ง" (ซูเราะห์ อัลอะห์ซาบ อายะห์ที่ 58)

4.บุหรี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะมีกลิ่นเหม็น

ความว่า "จงกล่าวกับพวกเขาเถิดว่า แท้จริงอัลเลาะห์มิทรงใช้ให้ (พวกเขา) กระทำสิ่งที่น่ารังเกียจหรอก" (ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 28)

และโดยส่วนมากของนักวิชาการจากมหาลัยอัล-อัซฮัรนั้น ก็มองว่า การสูบบุหรี่นั้น เป็นสิ่งต้องห้ามเช่นเดียวกัน โดยสภาฟัตวาของอัล-อัซฮัร ได้ออกแถลงการณ์ว่า "บรรดาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และการสัมมนาด้านการแพทย์แห่งโลกต่างก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่า บุหรี่นั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอย่างไร้ข้อสงสัยว่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งในปอด มะเร็งในลำคอ และเป็นอันตรายต่อระบบการหมุนเวียนโลหิต.." จึงถือว่า มันเป็นสิ่งต้องห้าม (จากหนังสือพิมพ์ไคโร ฉบับวันที่ 22 มีนาคม 1979)

13.การอ่านบางส่วนของอายะห์หรือซูเราะห์ในช่วงที่อยู่ระหว่าง อาซาน กับ อีกอมะห์
ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่ไม่มีแบบอย่าง และไม่มีที่มา นั่นคือ การนั่งอ่านอัลกุรอ่านในส่วนหนึ่งของซูเราะห์หรืออายะห์ใดก็ตาม ในขณะที่อยู่ระหว่าง อาซาน กับ อีกอมะห์ (ในทัศนะของผู้แต่งหนังสือนั้นถือว่า การกระทำนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากบิดอะห์ที่ฮ่ารอม) และเป็นการรบกวนผู้ที่กำลังทำการละหมาดซุนนะห์รอตีบะห์ (ละหมาดสุนัตก๊อบลียะห์) เพราะมันทำให้หายไปกับความคู่ชั่วะอ์ของผู้ที่กำลังทำละหมาด

เสริม : นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าคิด เพราะสำหรับตัวผมเอง(ผู้แปล)นั้น ก็มองว่า การอ่านกุรอ่านนั้น ไม่น่าจะมีเวลาที่มาจำกัดห้าม นอกจากในสถานที่ๆไม่เหมาะสม เช่น ในห้องน้ำ เป็นต้น ดังนั้น การที่ผู้แต่งหนังสือ ได้จำกัดเวลาของการห้ามอ่าน จึงถือว่าเป็นทัศนะของผู้แต่งเอง ที่มองว่า ไม่มีที่มาจากกระการทำของบรรดาซอฮาบะห์ จึงไม่อนุญาตให้ทำการอ่านอัลกุรอานในช่วงเวลานั้น แต่สำหรับผม (ผู้แปล) นั้น มีทัศนะที่ต่างกว่า นั่นก็คือ ไม่อนุญาตให้ไปจำกัดการห้ามอ่านในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะเป็นการห้ามจากสิ่งที่ไม่มีตัวบทมาห้าม กอปรกับกออีดะห์ที่ว่า "หลักเดิมของทุกสิ่งนั้นเป็นที่อนุมัติจนกว่าจะมีหลักฐานห้าม" ดังนั้น จึงไม่อนุญาตในการที่จะห้ามจากการกระทำที่ไม่มีตัวบทมาห้าม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การที่ผู้แต่งเข้าใจเช่นนั้น เพราะมีความปรารถนาดี เพื่อมิให้เป็นการรบกวนผู้ที่กำลังทำละหมาด และอาจมองว่า มันไม่มีที่มาจากบรรดาซอฮาบะห์ จึงไม่อนุญาตให้ทำการอ่านอัลกุรอานในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น แต่เหตุผลนั้น ก็ไม่ใช่หลักฐานที่เด็ดขาดในการที่จะมาจำกัดห้าม เพราะตัวบทที่มาจำกัดห้ามจากการกระทำดังกล่าวก็ไม่มีเช่นเดียวกัน กระผม (ผู้แปล) จึงมีทัศนะที่แตกต่างจากผู้แต่ง มิใช่เป็นการอาจหาญ หรือ อวดโต เพียงแต่ต้องการนำเสนอข้อมูลอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อให้พี่น้องได้เกิดความเข้าใจในหลักการของศาสนาที่มีความยืดหยุ่น และเพื่อมิให้เกิดความคับแคบในการนับถือศาสนา จากตรงนี้ จึงพอสรุปได้ ออกเป็น 2 ทัศนะ คือ
1. ไม่อนุญาตให้อ่านกุรอานในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะไม่มีแบบอย่าง

2. อนุญาตให้อ่านได้ เพราะถือว่า ไม่มีหลักฐานที่เด็ดขาดมาจำกัดห้าม โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องอ่านให้เบาที่สุดเพื่อมิให้เป็นการรบกวนผู้ที่กำลังทำละหมาด

แต่สำหรับทางด้านของความเหมาะสมแล้ว กระผม(ผู้แปล) ก็มีทัศนะเช่นเดียวกับผู้แต่งว่า ไม่สมควรที่จะอ่านในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพราะช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดจากการทำละหมาดซุนนะห์ก๊อบลียะห์ แต่ไม่ถือว่า "ห้ามอ่าน" สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะทำอีบาดะห์ต่ออัลเลาะห์(ซบ.) เช่น หลังจากละหมาดซุนนะห์เรียบร้อยแล้ว ยังไม่ได้เวลาที่มู่อัซซินจะทำการอีกอมะห์ อย่างนี้ ก็ถือว่าอ่านได้ และผู้อ่านก็จะได้รับผลบุญจากการอ่านด้วยเช่นเดียวกัน และอนุญาติเช่นเดียวกันที่จะทำการดุอาอ์ หรือ ทำการซิกรุ้ลเลาะห์ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นด้วย....วัลลอฮู่อะอ์ลัม

14.การนำเครื่องไม้เครื่องมือของมัสยิดไปใช้ในสถานที่อื่น
ส่วนหนึ่งจากบรรดาข้อผิดพลาดที่เกี่ยวพันกับมัสยิด ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับบางส่วนของผู้คน ซึ่งพวกเขาจะนำบางส่วนของสิ่งที่มีอยู่ในมัสยิด เช่น พัดลมที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ไม้กวาดชนิดต่างๆ และในบางครั้งก็มีการนำเครื่องขยายเสียงของมัสยิดออกไปใช้นอกสถานที่ เช่น ในบางวาระ หรือ ในโอกาสต่างๆ

ท่านอีหม่ามอิบนุ้ลนู่ฮาซ ได้กล่าวเอาไว้ว่า : "ส่วนหนึ่งจากมัน (จากข้อผิดพลาด) ก็คือ การยืมของที่ถูกจำกัดในมัสยิด (ไปใช้นอกมัสยิด) และการประดับโคมไฟ (ระย้า) ในงานเลี้ยง หรือ งานรื่นเริงต่างๆ ซึ่งสิ่งดังกล่าวนั้น ถือว่า ไม่อนุญาต"

เสริม : การยืมที่ว่านี้ มิใช่หมายถึงการยืมของวากัฟของมัสยิด แต่หมายถึงการยืมสิ่งที่อยู่ในมัสยิดจากพัดลมที่ถูกใช้อยู่เป็นประจำในสถานที่ที่ทำละหมาด หรือ ในส่วนหนึ่งของมัสยิด เอาออกไปใช้นอกสถานที่ของมัน เช่น ไมค์อาซาน หรือ เสื่อละหมาดของอีหม่าม ไมค์ที่ใช้ในการละหมาดอยู่เป็นประจำ หรือ อุปกรณ์อื่นๆ เช่นไม้กวาด ซึ่งเป็นของวากัฟที่ใช้ในมัสยิด ที่ถูกใช้อยู่เป็นประจำ ในกรณีอย่างนี้ไม่อนุญาตที่จะนำออกไปใช้นอกสถานที่ของมัน ซึ่งแตกต่างจากกรณีของการยืมของที่ถูกวากัฟไว้ ที่ทางมัสยิดอนุญาตให้ยืมใช้ได้ เช่น พวกถ้วยจาน หรือ พัดลมที่เตรียมไว้เพื่อให้ยืมไปใช้ อย่างนี้อนุญาตให้ยืมไปใช้ได้ และต้องนำกลับมาคืนในสภาพเดิมของมัน หรือ หากมีการชำรุดก็ควรซ่อมแซมให้ดี หรือ แล้วแต่ทางคณะกรรมการมัสยิดนั้นจะเป็นผู้กำหนดในกรณีที่ของวากัฟเกิดการเสียหาย ดังกล่าวนั้นแหละ คือ ความหมายของข้อห้ามในการยืมเครื่องไม้เครื่องมือของมัสยิด...

โดย...เป็นแค่คนรอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น