วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

หมวดที่ 4. การรวบรวมอัลกุรอ่าน มีการละทิ้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของคัมภีร์อัลกุรอ่านหรือไม่

หมวดที่ 4. การรวบรวมอัลกุรอ่าน มีการละทิ้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของคัมภีร์อัลกุรอ่านหรือไม่

        1.ท่านศาสดามุฮัมหมัดทรงคัดเลือกบรรดาสาวกและผู้ใกล้ชิดด้วยพระองค์องเอง เพื่อที่จะจดบันทึกข้อความในอัลกุรอ่านเป็นลายลักษณ์อักษร โดยการบอกเล่าวฮีของพระผู้เป็นเจ้า ในการนี้ผู้จดบันทึกได้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เท่าที่สามารถหาได้ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสัตว์ ไม้ เศษหิน หรือกระดูก แหล่งข้อมูลของอิสลามที่เชื่อถือได้ระบุว่ามีผู้จดบันทึกวฮีทั้งหมด 29 คน รวมทั้งท่านคอลีฟะห์ทั้งสี่ อบูบักร์ อุมัร อุสมาน และ อาลี นอกจากนี้ยังมีมุอาวียะห์ ซุเบร อิบนิลเอาวาม ซะอี๊ด บินอาส  อัมร์บินอาส   อาลีบินกะ และเซตบินซาบิต

       2. นอกจากมีการบันทึกวฮีแล้ว ยังมีการท่องจำอัลกุรอ่าน การอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งประเพณีนี้ยังคงมีตราบเท่าทุกวันนี้ ในสมัยที่ท่านศาสดายังมีชีวิตอยู่ ได้มีบรรดาสาวกของพระองค์หลายร้อยคนที่ได้ท่องจำคัมภีร์อัลกุรอ่านอย่างขึ้นใจ และท่านศาสดาได้ตรัสว่าในช่วงเดือนรอมาดอนของทุกปีพระองค์ได้ทรงทบทวนอัลกุรอ่านต่อหน้าเทวทูตญิบรีล (กาเบรียล) ในเดือนรอมาดอนสุดท้ายก่อนที่ท่านจะสวรรคตนั้นท่านญิบรีลได้ทบทวน อัลกุรอ่านทั้งหมด 2 ครั้ง ด้วยเหตุนี้ ได้มีการจดบันทึกเป็นครั้งสุดท้ายในช่วงปลายอายุของท่านศาสดา ในการจดบันทึกดังกล่าวได้ปฏิบัติตามบัญชาของท่านศาสดา โดยทุกโองการอยู่ในลำดับตามที่พระองค์ทรงประสงค์

       3. หลังจากที่ท่านศาสดาได้สวรรคตได้ 1 ปี บรรดาสาวกผู้ที่ท่องจำอัลกุรอ่านอย่างชึ้นใจ ได้เสียชีวิตจำนวน 70 คน ในสมรภูมิอัลญ่ามามะห์ กับพวกมูไซละมะห์  อัลกัซซาบ ท่านคอลีฟะห์ อุมัร อิบนิคอตตอบ ได้เสนอให้เซด บิน ซาบิต ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาสาวกที่ได้จดบันทึกวฮีให้ทำการรวบรวมอัลกุรอ่านที่ได้จดบันทึกไว้ตามที่ต่างๆ โดยได้จัดทำขึ้นมาใหม่ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการใช้ในโอกาสครั้งต่อไป ในการนี้ได้มีการวางหลักเกณฑ์ในการการรวบรวมอย่างเข้มงวด กล่าวคือจะไม่มีการถือว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของอัลกุรอ่านหากไม่ได้รับการยืนยันโดยพยานสองคนว่าเป็นข้อความที่ท่านศาสดาทรงบอกเล่าเอง  บรรดาสาวกที่ท่องจำอัลกุรอ่านอย่างขึ้นใจจึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง และเมื่อเซตบินซาบิตได้เสร็จสิ้นภารกิจรวบรวมอัลกุรอ่านก็ได้ส่งมอบต้นฉบับให้แก่ท่าน คอลีฟะห์ อบูบักร์ และก่อนที่ท่านอบูบักรจะถึงแก่อสัญกรรมได้ส่งมอบให้แก่คอลีฟะห์อุมัร บินคอตตอบ และก่อนที่ท่านอุมัรจะถึงแก่อสัญกรรมก็ได้ส่งมอบต้นฉบับดังกล่าว ให้แก่พระนางฮับเซาะห์บุตรสาวของตน

       4.ภายใต้การปกครองของท่านอุสมาน บิน อัฟฟาน คอลีฟะห์องค์ที่สาม ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยผู้จดบันทึกสี่ท่านด้วยกันในจำนวนนี้มีเซต บินซาบิต รวมอยู่ด้วย คณะกรรมการดังกล่าวได้คัดลอก อัลกุรอ่านขึ้นมา 5 ฉบับ และได้จัดส่งไปยัง นครมักกะห์ นครมะดีนะห์ นครบัสเราะห์ นครคูฟะห์ และนครดามัสกัส โดยที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ยึดถือและทบทวนจากต้นฉบับที่พระนางฮับเซาะห์เก็บรักษาไว้ โดยได้เปรียบเทียบกับกับอัลกุรอ่านที่ได้มีการท่องจำในสมัยที่พระศาสดายังมีชีวิตอยู่ นั่นก็คือ อัลมุศฮัฟ ที่ใช้อยู่ทุกหนแห่งในโลกอิสลาม ซึ่งเป็นแบบฉบับที่ไม่มีการแก้ไขใดๆจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่มีมุสลิมคนใดที่โต้แย้งความถูกต้องของอัลกุรอ่านดังกล่าว ตลอดระยะเวลาดังกล่าวตลอดระยะเวลา 1400 ปีที่ผ่านมา

       มีนักบูรพาคดีหลายคนรวมทั้ง Mr. Leblois  และ Mr . Muir และผู้เชี่ยวชาญร่วมสมัยชาวเยอรมัน  Mr. Rudi Paret ได้ยืนยัน ข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยที่ Mr . Rudi Paret  ได้เขียนคำนำที่ตนแปลขึ้นว่า เราไม่มีเหตุผลที่จะต้องสันนิษฐานว่า แม้เพียงโองการเดียวในอัลกุรอ่านทั้งหมดไม่ได้มาจากท่านศาสดามุฮัมหมัด

      สิ่งที่ Mr . Paret  ต้องการที่จะกล่าวก็คือ ภายหลังจากที่ท่านศาสดาได้สวรรคตแล้ว ไม่มีบุคคลใด ได้เปลี่ยนแปลงข้อความที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอ่านเลย และได้มีการพิสูจน์แล้วว่า ไม่มีอัลกุรอ่าน ฉบับอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากอัลกุรอ่านที่ได้จดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยท่านคอลีฟะห์ อุสมาน บินอัฟฟาน หากปรากฏว่าเหล่าสาวกของท่านศาสดามีอัลกุอ่านฉบับอื่นแล้ว พวกเขาคงจะแสดงมันออกมาให้เห็นแล้ว และจะต้องโต้แย้งกับฉบับที่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏว่า ในประวัติศาสตร์ อันยาวนานของอิสลามไม่มีการโต้แย้งใดๆเลย ในทางตรงกันข้ามแม้แต่นิกายในอิสลามบางนิกาย เช่น อะห์มะดียะห์ ซึ่งเป็นนิกายร่วมสมัยก็ยังยอมรับตัวบทในคัมภีร์อัลกุรอ่านเหมือนกับนิกายอื่นๆเช่นกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น